ผมพยายามหาประวัติของรถสองแถวเพื่อเอามาเขียนสารคดีสั้นเรื่องแรกของผม แต่ว่าหลังใช้เวลาไปสักพักความพยายามผมก็หมดลง แล้วหันเหไปหาหัวเรื่องใหม่ที่มันน่าจะง่ายกว่า แต่นั่นเป็นการสำคัญผิด เพราะในความเป็นจริงมันไม่มีอะไรง่าย ทุกอย่างมันต้องใช้ความพยายามอย่างที่สุดเท่านั้นมันถึงจะสำเร็จ!
ผมสั่งตัวเองว่าไหนๆ เราตั้งใจทำแล้ว จะมาละทิ้งเสียแต่ต้นทางมันอย่างนี้น่าเสียดายนัก อีกหน่อยถ้าทำเรื่องที่มันยากขึ้น นิสัยแบบนี้มันก็จะติดตัว แล้วหาข้ออ้างเข้าข้างความห่วยของตัวเองเรื่อยไป ในที่สุดผมก็ตัดสินใจเขียนเรื่องรถสองแถวตามเดิม แต่แทนที่จะเขียนถึงประวัติของรถสองแถวในวงกว้าง ผมโฟกัสให้มันแคบลงมาและใกล้ตัวมากที่สุด นั่นจึงเป็นที่มาของ "รถสองแถวสาย 36" สายรถที่มีสีสันและเต็มไปด้วยเรื่องเล่า
ปลายปี 2538 ผมเดินทางจากชายแดนเชียงรายมาแสวงหาทองที่สมุทรปราการเมืองอุตสาหกรรมด้วยวัยเพียง 15 ปี ผมอาศัยอยู่ในสลัมใกล้นิคมอุตสาหกรรมบางปูกับพ่อและแม่ พ่อกับแม่เป็นพ่อค้าน้ำแข็งเกร็ดหิมะ ผมทำงานทุกอย่างที่ทำได้ งานโรงงาน หรือ ยามเฝ้าประตูโรงงาน วันอาทิตย์วันหยุดเพียงวันเดียวของสังคมอุตสาหกรรม ผมพ่อและแม่จะออกไปซื้อของกันที่ตลาดปากน้ำ การเดินทางทีสะดวกและรวดเร็วที่สุดเวลานั้นคือรถสองแถวสีเขียวขาวสาย 36
รถสองแถวสาย 36 วิ่งให้บริการบนถนนสุขุมวิทสายเก่าจากปากน้ำถึงบางปูตรงกิโลเมตรที่ 36 ตามชื่อเรียกของมัน ปลายทางของมันถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์เพราะว่ามีวัดที่ว่าตั้งอยู่ตรงนั้นพอดี รถที่นิยมนำมาทำเป็นรถสองแถวหนีไม่พ้นรถกระบะสองยี่ห้อยอดนิยมคืออีซูซุรุ่นฝาทองและโตโยต้ารุ่นไมตี้เอ็ก ราคาค่าเดินทางตอนนั้น 5 บาทตลอดสาย
พัฒนาการของรถสองแถวสาย 36 มันก็เหมือนพัฒนาการของต้นไม้ มีการเติบโตแตกกิ่งก้านสาขา เมื่อถนนสุขุมวิทสายเก่าได้รับการพัฒนาขยายจากสี่เลนเป็นหกเล่น บ้านพักอาศัยเกิดขึ้นราวดอกเห็ดขยายออกนอกเมืองไปทางคลองด่านมากขึ้น รถสองแถวสาย 36 ก็มีการขยายปลายทางเพิ่ม ปลายทางแรกคือหมู่บ้านเด่นชัย ปลายทางที่สองคือนิคมอุตสาหกรรมบางปู ปลายทางสุดท้ายคือห้างเทสโก้โลตัสบางปู รถกระบะที่นำมาใช้เป็นรถสองแถวคือรถอีซูซุดีแมคและโตโยต้าวีโก้ ราคาค่าบริการขยับตามระยะทาง ถึงศรีจันทร์และเด่นชัย 7 บาท นิคมอุตสาหกรรมบางปูและเทสโก้โลตัส 10 บาท
ปลายทางที่เพิ่มขึ้นมันหมายถึงผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมาด้วย เมื่อมี่เรื่องของเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องมันก็หลีกไม่พ้นในเรื่องของความขัดแย้ง ปกติคู่แข่งของสองแถวสาย 36 คือ รถเมล์ปากน้ำ-คลองด่าน และรถสองแถวใหญ่สีแสดปากน้ำ-ตำหรุ รถเมล์นั้นแทบไม่อยู่ในสายตาของสองแถวสาย 36 เพราะมันยิ่งกว่ารถหวานเย็นเสียอีกไม่มีใครอยากนั่ง คู่แข่งหลักคือรถสองแถวใหญ่
ระหว่างรถสองแถวสาย 36 กับรถสองแถวใหญ่ ทั้งคู่จะยึดถนนออกจากปากน้ำคนละเส้น รถสองแถวสาย 36 ยึดถนนสุขุมวิทสายเลี่ยงเมือง รถสองแถวใหญ่ยึดถนนสายลวดผ่าเมือง ทั้งคู่จะไปขับเคี่ยวกับจริงๆ บนถนนสุขุมวิทนับแต่โค้งโพธิ์จนสุดสาย แต่ว่าการแย่งลูกค้ายังไม่รุนแรงมากนัก อย่างเก่งก็เป็นการช่วงชิงจังหวะเข้าป้ายเท่านั้น การแย่งลูกค้ามารุนแรงมากเมื่อมีการขยายปลายทางขอรถสองแถวสาย 36 นั่นเอง
อย่างที่บอกไปตอนต้นรถสองแถวสาย 36 มีปลายทางเดียวคือวัดศรีจันทร์ จึงเรียกกันติดปากว่ารถสองแถวศรีจันทร์ ต่อมาก็มีรถสองแถวเด่นชัย รถสองแถวนิคม และรถสองแถวโลตัส ชื่อพวกนี้เรียกตามจุดหมายปลายทางของมัน แต่มันมีนัยมากกว่านั้น รถสองแถวทั้ง 4 สาย ถึงจะเป็นรถสองแถวสาย 36 เหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้มีเจ้าของวินคนเดียวกันและอยู่กันคนละมุมของเมืองปากน้ำ แต่วิ่งบนถนนสายเดียวกัน พูดให้ง่ายมันก็เหมือนวินมอเตอร์ไซต์นั่นเอง
ความขัดแย้งของวินรถสองแถวสาย 36 รุนแรงน่ากลัวมาก รถเด่นชัย รถนิคม และรถโลตัส จะวิ่งรับคนในเขตของรถศรีจันทร์ไม่ได้ ผมเคยขึ้นรถนิคมในเขตศรีจันทร์ รถศรีจันทร์มันปาดหน้าเอานักเลงมายืนล้อมรถคันนั้น บังคับให้ผู้โดยสารไปขึ้นรถศรีจันทร์ เล่นกันแรงถึงขนาดนั้นเลยละ เราเป็นผู้โดยสารใจมันเต้นตุ่มๆ ต่อมๆ กลัวมันจะชักปืนขึ้นมาล่อกัน ทุกวันนี้เหตุการณ์แบบนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
เรื่องเล่าเกี่ยวกับรถสองแถวสาย 36 ไม่ใช่จะมีแค่เรื่องความรุนแรงเท่านั้น มันยังมีเรื่องเล่าของผีเข้ามาด้วย เรื่องหนึ่งที่เล่าลือกันมากคือเรื่องของ "ผีสาวเดลต้า"
สองสามปีก่อนโรงงานเดลต้าในนิคมอุตสาหกรรมบางปูถล่มคนงานผู้หญิงตายไปหลายคน กลางคืนรถสองแถวนิคมต้องวิ่งรับส่งผู้โดยสาร คืนหนึ่งมีคนงานสาวของเดลต้าขึ้นรถหลายคน แต่เมื่อถึงซอยเข้าโรงงานเดลต้ากลับไม่มีผูโดยสารแม้แต่คนเดียว นับแต่นั้นเกินสองทุ่มก็ไม่มีรถสองแถวเข้านิคมอุตสาหกรรมอีกเลย
สิ่งที่ผมเล่ามานี้อาจไม่ได้ฉายภาพประวัติของรถสองแถวสาย 36 เท่าใดนัก แต่อย่างน้อยมันก็เป็นลำห้วยเล็กๆ ที่คอยป้อนน้ำเข้าสู่แม่น้ำใหญ่ ภาพของสังคมรถสองแถวหลีกไม่พ้นเรื่องสังคมและความเป็นไปของเศรษฐกิจประเทศ ดูจากยี่ห้อและรุ่นของรถที่ใช้ ราคาค่าบริการ ความต้องการและปริมาณของเส้นทาง อีกไม่นานผมอาจเห็นรถสองแถวสาย 36 ที่ใช้รถทาทาของอินเดียก็เป็นได้
ณ ปัจจุบันปี 2554 รถสองแถวสาย 36 ยังโลดแล่นและมีบทบาทสำคัญกับการขนส่งบนถนนสุขุมวิทสายเก่าอยู่และไม่ว่าจะอีกสีกกี่ปีเรื่องเล่าและตำนานของมันก็คงจะได้รับการเล่าขานสืบต่อไป.