วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

สองแถวสาย 36

ผมพยายามหาประวัติของรถสองแถวเพื่อเอามาเขียนสารคดีสั้นเรื่องแรกของผม แต่ว่าหลังใช้เวลาไปสักพักความพยายามผมก็หมดลง แล้วหันเหไปหาหัวเรื่องใหม่ที่มันน่าจะง่ายกว่า แต่นั่นเป็นการสำคัญผิด เพราะในความเป็นจริงมันไม่มีอะไรง่าย ทุกอย่างมันต้องใช้ความพยายามอย่างที่สุดเท่านั้นมันถึงจะสำเร็จ!

ผมสั่งตัวเองว่าไหนๆ เราตั้งใจทำแล้ว จะมาละทิ้งเสียแต่ต้นทางมันอย่างนี้น่าเสียดายนัก อีกหน่อยถ้าทำเรื่องที่มันยากขึ้น นิสัยแบบนี้มันก็จะติดตัว แล้วหาข้ออ้างเข้าข้างความห่วยของตัวเองเรื่อยไป ในที่สุดผมก็ตัดสินใจเขียนเรื่องรถสองแถวตามเดิม แต่แทนที่จะเขียนถึงประวัติของรถสองแถวในวงกว้าง ผมโฟกัสให้มันแคบลงมาและใกล้ตัวมากที่สุด นั่นจึงเป็นที่มาของ "รถสองแถวสาย 36" สายรถที่มีสีสันและเต็มไปด้วยเรื่องเล่า

ปลายปี 2538 ผมเดินทางจากชายแดนเชียงรายมาแสวงหาทองที่สมุทรปราการเมืองอุตสาหกรรมด้วยวัยเพียง 15 ปี ผมอาศัยอยู่ในสลัมใกล้นิคมอุตสาหกรรมบางปูกับพ่อและแม่ พ่อกับแม่เป็นพ่อค้าน้ำแข็งเกร็ดหิมะ ผมทำงานทุกอย่างที่ทำได้ งานโรงงาน หรือ ยามเฝ้าประตูโรงงาน วันอาทิตย์วันหยุดเพียงวันเดียวของสังคมอุตสาหกรรม ผมพ่อและแม่จะออกไปซื้อของกันที่ตลาดปากน้ำ การเดินทางทีสะดวกและรวดเร็วที่สุดเวลานั้นคือรถสองแถวสีเขียวขาวสาย 36

รถสองแถวสาย 36 วิ่งให้บริการบนถนนสุขุมวิทสายเก่าจากปากน้ำถึงบางปูตรงกิโลเมตรที่ 36 ตามชื่อเรียกของมัน ปลายทางของมันถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์เพราะว่ามีวัดที่ว่าตั้งอยู่ตรงนั้นพอดี รถที่นิยมนำมาทำเป็นรถสองแถวหนีไม่พ้นรถกระบะสองยี่ห้อยอดนิยมคืออีซูซุรุ่นฝาทองและโตโยต้ารุ่นไมตี้เอ็ก ราคาค่าเดินทางตอนนั้น 5 บาทตลอดสาย

พัฒนาการของรถสองแถวสาย 36 มันก็เหมือนพัฒนาการของต้นไม้ มีการเติบโตแตกกิ่งก้านสาขา เมื่อถนนสุขุมวิทสายเก่าได้รับการพัฒนาขยายจากสี่เลนเป็นหกเล่น บ้านพักอาศัยเกิดขึ้นราวดอกเห็ดขยายออกนอกเมืองไปทางคลองด่านมากขึ้น รถสองแถวสาย 36 ก็มีการขยายปลายทางเพิ่ม ปลายทางแรกคือหมู่บ้านเด่นชัย ปลายทางที่สองคือนิคมอุตสาหกรรมบางปู ปลายทางสุดท้ายคือห้างเทสโก้โลตัสบางปู รถกระบะที่นำมาใช้เป็นรถสองแถวคือรถอีซูซุดีแมคและโตโยต้าวีโก้ ราคาค่าบริการขยับตามระยะทาง ถึงศรีจันทร์และเด่นชัย 7 บาท นิคมอุตสาหกรรมบางปูและเทสโก้โลตัส 10 บาท

ปลายทางที่เพิ่มขึ้นมันหมายถึงผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมาด้วย เมื่อมี่เรื่องของเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องมันก็หลีกไม่พ้นในเรื่องของความขัดแย้ง ปกติคู่แข่งของสองแถวสาย 36 คือ รถเมล์ปากน้ำ-คลองด่าน และรถสองแถวใหญ่สีแสดปากน้ำ-ตำหรุ รถเมล์นั้นแทบไม่อยู่ในสายตาของสองแถวสาย 36 เพราะมันยิ่งกว่ารถหวานเย็นเสียอีกไม่มีใครอยากนั่ง คู่แข่งหลักคือรถสองแถวใหญ่

ระหว่างรถสองแถวสาย 36 กับรถสองแถวใหญ่ ทั้งคู่จะยึดถนนออกจากปากน้ำคนละเส้น รถสองแถวสาย 36 ยึดถนนสุขุมวิทสายเลี่ยงเมือง รถสองแถวใหญ่ยึดถนนสายลวดผ่าเมือง ทั้งคู่จะไปขับเคี่ยวกับจริงๆ บนถนนสุขุมวิทนับแต่โค้งโพธิ์จนสุดสาย แต่ว่าการแย่งลูกค้ายังไม่รุนแรงมากนัก อย่างเก่งก็เป็นการช่วงชิงจังหวะเข้าป้ายเท่านั้น การแย่งลูกค้ามารุนแรงมากเมื่อมีการขยายปลายทางขอรถสองแถวสาย 36 นั่นเอง

อย่างที่บอกไปตอนต้นรถสองแถวสาย 36 มีปลายทางเดียวคือวัดศรีจันทร์ จึงเรียกกันติดปากว่ารถสองแถวศรีจันทร์ ต่อมาก็มีรถสองแถวเด่นชัย รถสองแถวนิคม และรถสองแถวโลตัส ชื่อพวกนี้เรียกตามจุดหมายปลายทางของมัน แต่มันมีนัยมากกว่านั้น รถสองแถวทั้ง 4 สาย ถึงจะเป็นรถสองแถวสาย 36 เหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้มีเจ้าของวินคนเดียวกันและอยู่กันคนละมุมของเมืองปากน้ำ แต่วิ่งบนถนนสายเดียวกัน พูดให้ง่ายมันก็เหมือนวินมอเตอร์ไซต์นั่นเอง

ความขัดแย้งของวินรถสองแถวสาย 36 รุนแรงน่ากลัวมาก รถเด่นชัย รถนิคม และรถโลตัส จะวิ่งรับคนในเขตของรถศรีจันทร์ไม่ได้ ผมเคยขึ้นรถนิคมในเขตศรีจันทร์ รถศรีจันทร์มันปาดหน้าเอานักเลงมายืนล้อมรถคันนั้น บังคับให้ผู้โดยสารไปขึ้นรถศรีจันทร์ เล่นกันแรงถึงขนาดนั้นเลยละ เราเป็นผู้โดยสารใจมันเต้นตุ่มๆ ต่อมๆ กลัวมันจะชักปืนขึ้นมาล่อกัน ทุกวันนี้เหตุการณ์แบบนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับรถสองแถวสาย 36 ไม่ใช่จะมีแค่เรื่องความรุนแรงเท่านั้น มันยังมีเรื่องเล่าของผีเข้ามาด้วย เรื่องหนึ่งที่เล่าลือกันมากคือเรื่องของ "ผีสาวเดลต้า"

สองสามปีก่อนโรงงานเดลต้าในนิคมอุตสาหกรรมบางปูถล่มคนงานผู้หญิงตายไปหลายคน กลางคืนรถสองแถวนิคมต้องวิ่งรับส่งผู้โดยสาร คืนหนึ่งมีคนงานสาวของเดลต้าขึ้นรถหลายคน แต่เมื่อถึงซอยเข้าโรงงานเดลต้ากลับไม่มีผูโดยสารแม้แต่คนเดียว นับแต่นั้นเกินสองทุ่มก็ไม่มีรถสองแถวเข้านิคมอุตสาหกรรมอีกเลย

สิ่งที่ผมเล่ามานี้อาจไม่ได้ฉายภาพประวัติของรถสองแถวสาย 36 เท่าใดนัก แต่อย่างน้อยมันก็เป็นลำห้วยเล็กๆ ที่คอยป้อนน้ำเข้าสู่แม่น้ำใหญ่ ภาพของสังคมรถสองแถวหลีกไม่พ้นเรื่องสังคมและความเป็นไปของเศรษฐกิจประเทศ ดูจากยี่ห้อและรุ่นของรถที่ใช้ ราคาค่าบริการ ความต้องการและปริมาณของเส้นทาง อีกไม่นานผมอาจเห็นรถสองแถวสาย 36 ที่ใช้รถทาทาของอินเดียก็เป็นได้

ณ ปัจจุบันปี 2554 รถสองแถวสาย 36 ยังโลดแล่นและมีบทบาทสำคัญกับการขนส่งบนถนนสุขุมวิทสายเก่าอยู่และไม่ว่าจะอีกสีกกี่ปีเรื่องเล่าและตำนานของมันก็คงจะได้รับการเล่าขานสืบต่อไป.

สลัมบอย

ในอาณาจักรอันกว้างขว้างของนิคมอุตสาหกรรมบางปูมันได้ซุกซ่อนชุมชนเล็กชุมชนน้อยไว้ตามซอกหลืบของมัน

ไม่ใช่คอนโดให้เช่าเดือนละพันห้า!

ไม่ใช่ห้องแถวให้เช่าเดือนละสองพัน!

แต่มันคือสลัม! สถานที่ซุกหัวนอนของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู

จะว่าไปแล้วก็เหมือนพวกปลาตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยอยู่ตามร่างกายของปลาตัวใหญ่เพื่อหวังเพียงอาหารประทังชีวิตนั่นเอง

ผม พ่อ และแม่ รวมถึงญาติพี่น้องบางส่วนเคยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเล็กๆ เหล่านี้

ชุมชนเล็กๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะว่า นิคมอุตสาหกรรมบางปูล้อมรอบไปด้วยบ่อปลา และเจ้าของบ่อปลาก็เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา เพื่อเก็บเกี่ยวดอกผลเป็นรายได้เสริม

ก่อนจะพูดถึงชุมชนที่ผมเคยเป็นส่วนหนึ่งนั้น ว่ามันตั้งอยู่ตรงซอกหลืบไหนของนิคมอุตสาหกรรมบางปู จะขอพูดถึงลักษณะที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมบางปูเสียก่อน

นิคมอุตสาหกรรมบางปูจัดสรรพื้นที่คล้ายกระดานหมากรุก มีถนนเส้นหลักสามสายเรียกว่า ถนนพัฒนา 1 ถนนพัฒนา 2 และถนนพัฒนา 3 แล้วจะมีถนนรองตัดผ่านถนนหลักทั้งสามสายจำนวน 9 เส้น และถนนอีก 5 เส้นจะเชื่อมกับถนนพัฒนา 1 เท่านั้น ส่วนทางเข้าออกหลักจะอยู่ที่ถนนพัฒนา 1

ชุมชนเล็กๆ จะมีทางฝั่งของถนนพัฒนา 3 เพราะเป็นทางตันติดกับบ่อปลาพอดิบพอดี มีเพียงคลองน้ำดำกว้างสองเมตรกั้นไว้เท่านั้น

ที่ที่ผมและครอบครัวเคยอยู่นั้นมันคือสุดปลายทางถนนรองเส้นที่สาม คนแถวนั้นเรียกถนนรองว่าซอย ตรงนั้นจึงมีชื่อเรียกว่าซอยสาม

ครอบครัวเจ้าของบ่อปลานั้นอ้วนเกือบทุกคน มักพูดคุยกันด้วยเสียงดัง เค้าสร้างห้องแถวด้วยไม้ไว้ตามคันบ่อปลาสิบกว่าห้อง แต่ละห้องไม่กว้างอะไรเลยอยู่กันเต็มที่ไม่เกินสามคน ห้องน้ำรวม ราคาค่าเช่าไม่เบาเลยเดือนละพันสอง ค่าน้ำ ค่าไฟ คิดต่างหาก

คนที่อาศัยก็มีที่มาต่างกัน ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้ารถเข็นเหมือนผมกับครอบครัวนั่นละ กลุ่มใหญ่และดูเหมือนจะมาตั้งรกรากก่อนใครพวกคือคนสุโขทัย

พวกนี้เค้าทำหมูปิ้งขายตามหน้าโรงงานต่างๆ เราสนิทสนมกันพอสมควรตามประสาคนชุมชนเดียวกัน

ผมเคยถามว่าพวกเค้ามาอยู่กันตั้งแต่เมื่อไหร่ พี่เปียกพี่ปูสองสามีภรรยาคนที่ผมคุ้นเคยมากที่สุดมักจะบอกว่า มาอยู่กันตั้งแต่มีโรงงานเพียงไม่กี่โรง ที่ทางส่วนใหญ่ยังเป็นป่า หมูปิ้งก็ขายกันไม้ละสองบาท

ถ้าผมจำไม่ผิด นิคมอุตสาหกรรมบางปูสร้างขึ้นประมาณปี 26 - 27 และปีที่ผมมาอยู่นั่นมันก็ปี 38 สภาพตอนนั้นโรงงานถูกสร้างเกือบเต็มทุกบล็อกแล้ว หมูปิ้งก็ขายกันไม้ละสามบาท ถ้าให้ผมเดาพวกเค้าน่าจะมาอยู่กันราวปี 30 - 33

คิดว่าน่าจะเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้เค้ามีฐานะอย่างตอนที่ผมมาเจอพวกเค้า พวกนี้มีเงินนะ เข้าทำนองผ้าขี้ริ้วห่อทอง แต่ละครอบครัวจะมีรถกระบะรุ่นใหม่ป้ายแดงและโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่กันทุกคน!

แล้วหมูปิ้งสุโขทัยมันเป็นอะไรที่ดังอยู่พอสมควรในสังคมนิคมอุตสาหกรรมบางปู จนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของซอยสาม แต่ยังมีอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้กันนั่นคือร้านซ่อมมอเตอร์ไซต์ช่างมูล

ช่างมูลมีรายได้อย่างงดงาม มอเตอร์ไซต์อาณาบริเวณซอยหนึ่งถึงซอยเก้าเป็นลูกค้าแกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นร้านซ่อมมอเตอร์ไซต์เพียงแห่งเดียวในย่านนั้น!

ช่วงเวลาที่ชุมชนแห่งนี้มีสีสรรมากที่สุด ผมคิดว่าอยู่ระหว่างปี 38 - 40 เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่พ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กอย่างเราสามารถหาเงินได้ไม่น้อยกว่าวันละครึ่งหมื่น!

ตามหน้าโรงงานเวลาเปลี่ยนกะหรือเวลาเบรกพนักงานพร้อมจะจ่ายเงินซื้อทุกอย่างที่พวกเค้าต้องการ

หลังเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ นิคมอุตสาหกรรมเหมือนมีงานเทศกาลสำคัญ ถนนทุกสายมีแต่คนเดินหางานกันเป็นกลุ่มๆ สำหรับเรานั้นเป็นช่วงเวลาดีที่สุดของการค้าขายเลยละ

แต่หลังเศรษฐกิจล่มปลายปี 40 การค้าก็ซบเซาลง พ่อค้าแม่ค้าบางรายก็เลิกขายกลับไปอยู่บ้าน ถนนทุกสายในนิคมอุตสาหกรรมมีคนเดินหางานกันเยอะมาก แต่เรากลับขายของกันไม่ได้ เพราะแต่ละคนที่เดินผ่านเราไปใบหน้าของเค้าไม่มีรอยยิ้มมีเพียงแววตาแห่งความกังวล กังวลกับอนาคตที่จะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้!

สภาพแบบนั้นดำรงอยู่จนถึงสิ้นปี 40 และหลังจากนั้นก็แทบจะไม่คนเดินหางานในนิคมอุตสาหกรรมอีกเลย เพราะไม่มีตำแหน่งงานว่าง และการอุบัติขึ้นมาของบริษัทนายหน้าหาแรงงานเข้าโรงงาน

ถึงอย่างนั้นเราก็จะพอเลี้ยงตัวเองและประคองครอบครัวจนเริ่มยืนได้อีกขึ้น ครอบครัวผมคลุกคลีอยู่ในชุมชนแห่งนั้นสี่ห้าปีก่อนจะขยับขยายออกมาอยู่คอนโดเด่นชัยชุมชนที่แสนคึกคักอีกแห่งหนึ่งของเมืองอุตสาหกรรมแห่งนี้

ณ เดือนกันยายน 2554 นิคมอุตสาหกรรมบางปูมีการพัฒนาในเรื่องถนนหนทางอย่างดีพร้อมกับการเกิดขึ้นมาของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งใหม่ แต่ว่าวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับมันแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย!

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

เก็บรอยเท้าที่สามห่วง

ถ้าเปรียบนิคมอุตสาหกรรมบางปูเป็นสนามรบ ชุมชนสามห่วงคงเปรียบได้กับป้อมค่ายทหาร ที่ให้ทหารได้พักผ่อนเอาแรงหลังตรากตรำทำศึก ก่อนออกรบอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น!

เดินทางตามถนนสุขุมวิทสายเก่าจากปากน้ำถึงกิโลเมตรที่สามสิบสาม แล้วเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานปูนข้ามคลอง เมื่อลงจากสะพานคุณจะเจอสถานที่ที่ผมเรียกว่า "ชุมชนสามห่วง"

คุณจะเห็นถนนลาดยางมะตอยทอดยาวสองฝากจะเต็มไปด้วยร้านค้า ตึกแถว และคอนโด ถนนเล็กๆ สายนี้ทำหน้าที่เหมือนเส้นเลือดที่ล่อเลี้ยงนิคมอุตสาหกรรมบางปู

สภาพที่เล่ามานี่แตกต่างกันมากับเมื่อปลายปี 2538

ยุคนั้นหน้าจะตรงกับรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เป็นช่วงท้ายๆ ของยุคตื่นอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจของประเทศเฟื่องฟู โรงงานแต่ละโรงในนิคมอุตสากรรมบางปูเดินเครื่องกันไม่หยุด พอๆ กับชีวิตผู้คนในสามห่วง

ณ เวลานั้นความเจริญของสามห่วงเติบโตเพียงฝากเดียวของถนน ถ้ามาจากถนนสุขุมวิททางซ้ายมือจะเห็นอาคารพาณิชย์เรียงกันยาวเหยียดมาถนน ถัดจากนั้นเห็นห้องแถวอีกหลายสิบห้อง อาคารพาณิชย์หลังใหม่สร้างอยู่ตรงข้ามโรงงานผลิตน้ำผลไม้ตรามาลี และร้านสุกี้แคนต้า

หลังอาคารพาณิชย์คือคอนโดราคาย่อมเยาจำนวนหลายสิบตึก ตลาดสด และตลาดเสื้อผ้า

บรรยากาศวันนั้นผู้คนมากมายเดินเบียดกันแต่ทุกคนก็ยังมีรอยยิ้มให้กัน ห้องแถวแต่ละห้องมีพ่อค้าแม่ขายมาจับจองพื้นที่ขายกันอย่างคึกคัก

ยิ่งเย็นวันศุกร์จะมีเวทีประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ผู้คนจะยิ่งกว่าเป็นเท่าตัว ผม พ่อ และ แม่ เราจะอยู่ที่ข้างเวทีในวันนั้นเพื่อขายน้ำแข็งเกร็ดหิมะ มันขายดีมาก จนเราสามพ่อแม่ลูกวาดฝันกันว่าอนาคตครอบครัวเราคงตั้งต้นได้ที่นี่

แต่เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เศรษฐกิจล่มสลาย ในปี 2540 ความหวังของเราก็แทบดับดิ้น สามห่วงที่เรารู้จักกลับกลายเป็นคนแปลกหน้า

เวทีประกวดร้องเพลงลูกทุ่งหายไป อาคารพาณิชย์และห้องแถวถูกปล่อยร้าง อาคารพาณิชย์หลังใหม่สร้างได้แค่ชั้นที่สองก็ถูกทิ้งร้าง ร้านสุกี้แคนต้าถูกปิดตาย ผู้คนบางตาและไม่มีรอยยิ้ม

เวลานั้นไม่ว่าผมกับพ่อจะเร่ขายของตามหน้าโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปูซอกซอยไหน เราจะเห็นการประท้วงเรียกร้องค่าจ้างมากมายตามหน้าโรงงานที่ปิดตัวลง

มันเป็นภาพที่หน้าหดหู่ บางโรงงานปิดตัวลงทั้งที่ยังไมได้แจ้งพนักงานของตัวเองแม้สักคำ มันเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างไม่น่าให้อภัย

ณ ปัจจุบัน 2554 สามห่วงแม้จะมีความคึกคักกลับขึ้นมาบ้าง แต่ว่ามันไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้ว อาคาพาณิชย์ใหม่ถูกสร้างขึ้นมาอีกฝากหนึ่งของถนนขณะที่อาคารพาณิชย์หลังเก่าและห้องแถวยังถูกทิ้งร้างไร้ชีวิต ตลาดเสื้อผ้าแทบจะสูญพันธ์ สิ่งเดียวที่พอจะยังสดชื่นอยู่บ้างคือตลาดสด แต่นับวันก็ซักจะโรยราเหมือนกัน

ผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยในสามห่วงดูแปลกน่าไปอย่างมาก นอกจากแรงงานในต่างจังหวัดแล้วยังมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฏหมายและนอกกฏหมายปะปนอยู่กับคนไทยจำนวนมาก ความแปลกแยกนี้บางครั้งก็นำมาซึ่งความรุ่นแรง ยาเสพติดและอาชญากรรม

สภาพที่เกิดขึ้นกับสามห่วงยังเกิดขึ้นกับชุมชนอีกหลายชุมชนรอบนิคมอุสาหกรรมบางปู และการมาถึงของบิ๊กซีปากน้ำและเทสโกโลตสบางปูยิ่งทำเศรษฐกิจในชุมชนเหล่านั้นซบเซาลงอีก

ทุกวันนี้ผมยังคงเดินเข้าตลาดสามห่วงเพื่อจับจ่ายซื้อข้าวของอยู่ ยังเจอพ่อค้าแม่ขายที่คุ้นหน้าคุ่นตากันอยู่บ้าง แต่รอยยิ้มที่มอบให้แก่กันมันหดหู่อย่างไรชอบกล

ผมไม่รู้ว่าสถานการณ์ของสามห่วงมันจะเปลี่ยนแปลงอีกมากน้อยแค่ไหนจากนี้ แต่ที่เห็นถนนสายเล็กๆ แห่งนี้มันก็ยังทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อตรงไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย!

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อาการแม่ทรุด ปวดหลัง อ้วกลม

มะเร็งแค่ชื่อผมก็สยิวแล้ว

ตระกูลผมทั้งสายพ่อสายแม่ปูย่าตายายล้มหายตายจากด้วยฝีมือของมันทั้งนั้น

ไม่มีใครไม่ทนทุกข์ทรมานทรกรรมกับมัน!

เมื่อเด็กเห็นความเจ็บปวดพวกนี้ยังไม่ประสีประสาว่ามันมาจากอะไร โตขึ้นถึงเข้าใจ

ณ ขณะนี้แม่กำลังทนทุกข์อยู่กับมัน คราวๆ น่าจะปีกว่า

เมื่อวานอาการแม่ทรุดลงอีก ปวดหลัง อ้วกลมอ้วกแล้งบ่อย กำเริบแต่ละครั้งต้องร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด น้ำตาอาบแก้มเป็นทาง

ผมกับพ่อและทุกคนที่เฝ้าอยู่ข้างเตียงทำได้แค่เพียงให้กำลังใจและปลอบใจกันไปเท่านั้น

ตกกลางคืนราวสองทุ่มครึ่งตอนอาการกำเริบ แม่พูดเหมือนคำสั่งเสียสุดท้าย

"ถ้าแม่ไม่อยู่แล้ว ให้เอาแม่ไปไว้ที่วัดสิบสอง"

ผมและทุกคนรับฟังด้วยใจหดหู่ไม่มีกล้าพูดอะไรทั้งนั้น

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

หยุดงานอีกแว้ว!

หยุดงานอีกแล้ว! เพราะอาการแม่ทรุดลงเมื่อคืน เพิ่งจะมานอนหลับสนิทก็เช้านี้เอง ผมไม่อยากทิ้งแม่ไปทำงานในสภาพแบบนี้

ตอนที่ผมโทรแจ้งบริษัทฝ่ายบุคคลเขาเข้าใจ แต่ถึงจะเข้าใจบางทีผมก็นึกเกรงใจอยู่มาก บริษัทมันไม่ใช่ของเขา เขาเข้าใจเห็นใจผมได้ แต่บริษัทไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย

นี่ก็ลางานบ่อยมาก ไม่รู้เขาจะเตือนวันไหนเหมือนกัน

รู้นะว่าเขาดีกะผม ผมไม่ลืมหรอก นี่ยังคิดทุกวิถีทางเพื่อตอบแทนเขา

ตอนทำงานผมก็พยายามทำให้เกินกว่าที่เขาต้องการ ถ้าวันไหนผมเขียนบันทึกเก่งกว่านี้ รับรองว่าผมจะเขียนให้กับเขาอย่างถวายหัวเลยละ

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

บ้านพรมมี

จะมีที่ใดสุขใจยิ่งกว่าบ้าน!

ผมว่าจริงนะ ต่อให้เที่ยวหรือทำงานห่างบ้านเท่าไหร่ อยู่อย่างสุขสบายเพียงใด แต่เมื่อเรากลับเข้าบ้าน เราจะสัมผัสได้ถึงไออุ่นของครอบครัว แล้วมันทำให้เราสุขใจและอบอุ่น

บ้านพรมมีของเราเป็นทาวน์เฮ้าท์ขนาดสิบแปดตารางวา อยู่แพรกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

เดิมทีบ้านเราอยู่กันเพียง 7 คน แต่ตอนนี้มีเกือบสิบ เพราะมีญาติมาอยู่ด้วยเพื่อเฝ้าไข้แม่

7 คนในบ้านเราก็มี พ่อ แม่ ผม สุ เนิร์ส ดาต้า และต้น

เนิร์สลูกสาวคนโตวัยสี่ขวบกำลังเรียนอนุบาลดื้อมาก! ดาต้าลูกคนเล็กวัยสี่เดือนกว่ากำลังส่งเสียงอ้อแอ้

ต้นหลานชายคนเดียวที่ติดสอยห้อยตามมาด้วย แม่ขอร้องพามาอยู่เพราะแกเลี้ยงมาตั้งตัวแดงๆ

แม่กำลังป่วยด้วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ก็ได้พ่อนั่นละเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดูแลทั้งย่าและหลานสาวสองคน

ผมกับสุนะเหรอ? ทำงานกันหัวหกก้นขวิดเพื่อหาเงินเข้าบ้าน เหนื่อยกันแทบขาดใจ แต่ก็ไม่มีใครท้อ

บ้านเราตอนนี้แม้จะแลดูอึดอัดไปบ้าง แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความอบอุ่นในบ้านน้อยลงเลย เรายังความสุขทุกครั้งที่นั่งอยู่ในบ้านของเรา.

รู้แล้วเรียกอะไรดี!

หามานานว่าจะเรียกคนที่มันชอบเขียนเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ของตัวเองลงบล็อกอย่างผมอย่างไรดี?

นักเขียนรึ? มันดูโอเวอร์ ผมไม่ชอบ เขียนบล็อกกระจอกงอกหง่อยอย่างผม ใครก็ทำกันทั้งนั้น เด็กบางคนยังไม่ถึงสิบขวบก็มีบล็อกแล้ว

ใครอยากเรียกตัวเองว่านักเขียนก็ให้เค้าเรียกกันไป ผมขอบาย

บล็อกเกอร์รึ? เป็นคำที่เท่มาก แต่ผมไม่ค่อยเข้าใจมันเท่าไหร่ ความหมายมันกว้างเกินไปมั้งกับสิ่งที่ผมเขียน

แต่บ่ายวันนี้ผมเจอเข้าคำหนึ่ง ทั้งตรงใจ ตรงประเด็นเป๊ะ อ่านแล้วไม่ต้องแปล ที่สำคัญผมชอบ

"นักเขียนบันทึกส่วนบุคคล"

ใช่แล้วคำนี้แหละ! นักเขียนบันทึกส่วนบุคคล เก๋กู๊ด ว้าาาาาว!

ชอบคำนี้ตรงไหน? ผมชอบเขียนก็จริงนะ แต่ยอมรับว่าแค่เขียนว่าวันนี้ไปทำอะไรเบิ่นๆ ที่ไหน อย่างไร มากกว่าเขียนจนเป็นนิยาย

อีกอย่างนะดูมันจะเป็นคำที่ไม่ได้เข้าถึงยากเหมือนคำว่านักเขียนนิยาย แค่คนเขียนบันทึกธรรมดาเท่านั้น.

ยกเลิกบัตรเครดิตแล้วครับ

ใจหายเหมือนกันนะตอนที่มองดูเจ้าหน้าที่สินเชื่อแบงก์กรุงไทยค่อยๆ ใช้กรรไกบรรจงตัดบัตรเครดิตของผมตามเงื่อนไขการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต!

ผมใช้บัตรเครดิตมาสามสี่ปีมันก็สะดวกสบายดีอยู่หรอก แต่ว่าผมมักจะไม่ค่อยได้จ่ายแบบเต็มจำนวนเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะจ่ายครึ่งหนึ่ง มันก็พอทนได้นะ

แต่ว่าตอนนี้ไม่ไหวจริงๆ สถานการณ์การเงินแย่มาก แม่ป่วย ลูกคนโตเข้าโรงเรียน คนเล็กต้องกินนม หมุนเงินกันจนตาลายเอาไปเอามาบางทีได้จ่ายแค่ขั้นต่ำ

แต่แค่ขั้นต่ำเราก็เหนื่อยแล้ว จึงคิดว่าอยากจะลดค่าใช้จ่ายลง จังหวะพอเหมาะกับที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มีโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตสามารถผ่อนได้นานถึงสามปี ผมจึงตัดสินใจเข้าร่วม

ผมก็ไปยื่นเรื่องขอสินเชื่อกับแบงก์กรุงไทยสาขาบางลำภูเมื่อกลางเดือนสิงหาคม เพิ่งได้รับการอนุมัติเมื่อวาน ดีใจมากครับ วันนี้มันก็ไปจัดการนำเงินก้อนนั้นไปจ่ายปิดบัญชีบัตรเครดิตที่แบงก์กสิกรไทยเรียบร้อยแล้ว

หลังได้หลักฐานว่าเราได้จ่ายเงินปิดบัญชีแล้วก็นำมาให้กับเจ้าหน้าที่สินเชื่อกรุงไทยพร้อมกับให้เค้าทำลายบัตรเคดิตด้วยตามเงื่อนไข

ใจหายครับตอนที่เห็นบัตรเครดิตถูกตัด แต่ก็ดีใจที่เรายังพอจะมองเห็นฝั่งว่าหนี้สินก้อนนี้มันจะหมดเมื่อไหร่!

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บ้านเก่า

ผมถ่ายรูปนี้จากสนามเด็กเล่นของคอนโดเด่นชัยทาวน์เมื่อเช้าวันพุธ ที่ 24 สิงหาคม 2011 คอนโดที่เห็นในภาพมันเคยเป็นบ้านของเรากว่า 14 ปี

บ้านในความหมายของมันควรจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมมีหลังคาชายคาไม่ติดกับใคร

แต่สำหรับผมบ้านหมายถึงที่ซุกหัวนอน ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปเป็นร่างเหมือนที่บรรยายมาข้างต้น เพียงแต่อยู่แล้วสบายมีความสุขใจเป็นพอ

คอนโดเด่นชัยมันเคยเป็นบ้านหลังที่สองของครอบครัวเรา เป็นแหล่งพักกายพักใจยามเหนื่อยอ่อนจากการงาน

ช่วงแรกๆ ผมอยู่กับพ่อแม่สามคน ต่อมาผมแต่งงานมีภรรยาเราก็อยู่ด้วยกัน มีหลานสาวเพิ่มมาอีกหนึ่งเราก็อยู่ด้วยกัน จนกระทั่งเรากำลังจะมีลูกคนที่สองเราจึงย้ายไปอยู่ทาวน์เฮ้าส์กัน

เราย้ายจากที่นี้ไปนานหกเดือนแล้ว แต่ทุกครั้งที่กลับมายังคอนโดเด่นชัยยังรู้สึกอบอุ่นเหมือนวันเก่าๆ อยู่ไม่สร่าง!!

คุณแม่ป่วยหนัก

มันครั้งที่เท่าไหรแล้วผมจำไม่ได้ที่แม่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แต่ที่จำได้ทุกครั้งแม่จะทรมานกับมันมาก

เมื่อคืนวานผมต้องอุ้มพาคุณแม่เข้าโรงพยาบาลปากน้ำ ท่านอ่อนเพลียมาก หายใจไม่สะดวก หมอให้นอนเฝ้าดูอาการ

เที่ยวันนี้ผมเข้าไปเยี่ยมพร้อมกับญาติสี่คน ท่านดูดีแต่อ่อนเพลีย มีรอยยิ้มและพอจะพูดคุยทักทายกับทุกคนได้

เรายืนรอบเตียงท่านพักใหญ่ๆ คุณหมอเข้ามาสะกิดให้ผมกับคุณพ่อเข้าไปคุยด้วย

ถ้อยคำที่แสนนุ่มนวลรื่นหูแต่มันบาดลึกเข้าไปในหัวใจของเราสองพ่อลูกเมื่อคุณหมอบอกอาการคุณแม่หนักหนาขนาดไหน

เราสองพ่อลูกต้องพยายามกุมความเข้มแข็งเดินมาที่เตียงคุณแม่พร้อมรอยยิ้มบนใบหน้าแต่ในใจนั้นแสนระทม

เวลาของเราสามพ่อแม่ลูกมันเหลือน้อยลงทุกวัน!

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สายป่าน

"สายป่าน" เป็นชื่อของสาวหมวยวัยยี่สิยสองเดือนคนนี้ละครับ

หลานสาวผมเอง เป็นไงน่ารักอะป่ะ!

เห็นหมวยๆ อย่างนี้อย่าเข้าใจผิดว่าพ่อหรือแม่เป็นจีนนะ มันไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว

แม่สายป่านเป็นสาวเหนือเมืองเชียงราย ลูกพี่ลูกน้องผมเอง พ่อเป็นหนุ่มศรีสะเกษ

รูปนี้ถ่ายในมุมใดมุมหนึ่งของโรงพยาบาลปากน้ำขณะรอเยี่ยมแม่ของผม ท่านเข้าโรงพยาบาลเมื่อคืน คาดว่าคงต้องนอนพักโรงพยาบาลหลายวันอยู่!

สวัสดีครับ

เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้านหลังใหญ่แห่งนี้ ยินต้อนดีรับเพื่อนทุกคนครับ

ทำไมถึงเขียนบล็อก? ผมถามตัวเองก่อนลงมือสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก

ผมอยากจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวผม อาทิ คนที่ผมเข้าไปคุยด้วย เค้าเป็นใคร มาจากไหน พบเจอกันได้อย่างไร หรือ วันนี้ผมสนใจข่าวอะไร ข่าวนั้นมีความเป็นมาอย่างไร ฯลฯ

ใจหนึ่งต้องการเตือนความจำให้กับตัวเอง บางวันเวลาที่มันวิ่งผ่าน ทำให้ความทรงจำบางอย่างเลือนรางไป การมีบันทึกเล็กๆ น้อยๆ มันช่วยได้เยอะมากทีเดียว

ผมจึงสรุปรวบยอดเอาเองว่ามันหน้าจะคล้ายบันทึกจดหมายเหตุส่วนบุคคล

ไม่ปิดบังถ้าใครต้องการอ่าน หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ตรงข้ามผมจะยินดีมากๆ ครับ