วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

สลัมบอย

ในอาณาจักรอันกว้างขว้างของนิคมอุตสาหกรรมบางปูมันได้ซุกซ่อนชุมชนเล็กชุมชนน้อยไว้ตามซอกหลืบของมัน

ไม่ใช่คอนโดให้เช่าเดือนละพันห้า!

ไม่ใช่ห้องแถวให้เช่าเดือนละสองพัน!

แต่มันคือสลัม! สถานที่ซุกหัวนอนของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู

จะว่าไปแล้วก็เหมือนพวกปลาตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยอยู่ตามร่างกายของปลาตัวใหญ่เพื่อหวังเพียงอาหารประทังชีวิตนั่นเอง

ผม พ่อ และแม่ รวมถึงญาติพี่น้องบางส่วนเคยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเล็กๆ เหล่านี้

ชุมชนเล็กๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะว่า นิคมอุตสาหกรรมบางปูล้อมรอบไปด้วยบ่อปลา และเจ้าของบ่อปลาก็เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา เพื่อเก็บเกี่ยวดอกผลเป็นรายได้เสริม

ก่อนจะพูดถึงชุมชนที่ผมเคยเป็นส่วนหนึ่งนั้น ว่ามันตั้งอยู่ตรงซอกหลืบไหนของนิคมอุตสาหกรรมบางปู จะขอพูดถึงลักษณะที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมบางปูเสียก่อน

นิคมอุตสาหกรรมบางปูจัดสรรพื้นที่คล้ายกระดานหมากรุก มีถนนเส้นหลักสามสายเรียกว่า ถนนพัฒนา 1 ถนนพัฒนา 2 และถนนพัฒนา 3 แล้วจะมีถนนรองตัดผ่านถนนหลักทั้งสามสายจำนวน 9 เส้น และถนนอีก 5 เส้นจะเชื่อมกับถนนพัฒนา 1 เท่านั้น ส่วนทางเข้าออกหลักจะอยู่ที่ถนนพัฒนา 1

ชุมชนเล็กๆ จะมีทางฝั่งของถนนพัฒนา 3 เพราะเป็นทางตันติดกับบ่อปลาพอดิบพอดี มีเพียงคลองน้ำดำกว้างสองเมตรกั้นไว้เท่านั้น

ที่ที่ผมและครอบครัวเคยอยู่นั้นมันคือสุดปลายทางถนนรองเส้นที่สาม คนแถวนั้นเรียกถนนรองว่าซอย ตรงนั้นจึงมีชื่อเรียกว่าซอยสาม

ครอบครัวเจ้าของบ่อปลานั้นอ้วนเกือบทุกคน มักพูดคุยกันด้วยเสียงดัง เค้าสร้างห้องแถวด้วยไม้ไว้ตามคันบ่อปลาสิบกว่าห้อง แต่ละห้องไม่กว้างอะไรเลยอยู่กันเต็มที่ไม่เกินสามคน ห้องน้ำรวม ราคาค่าเช่าไม่เบาเลยเดือนละพันสอง ค่าน้ำ ค่าไฟ คิดต่างหาก

คนที่อาศัยก็มีที่มาต่างกัน ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้ารถเข็นเหมือนผมกับครอบครัวนั่นละ กลุ่มใหญ่และดูเหมือนจะมาตั้งรกรากก่อนใครพวกคือคนสุโขทัย

พวกนี้เค้าทำหมูปิ้งขายตามหน้าโรงงานต่างๆ เราสนิทสนมกันพอสมควรตามประสาคนชุมชนเดียวกัน

ผมเคยถามว่าพวกเค้ามาอยู่กันตั้งแต่เมื่อไหร่ พี่เปียกพี่ปูสองสามีภรรยาคนที่ผมคุ้นเคยมากที่สุดมักจะบอกว่า มาอยู่กันตั้งแต่มีโรงงานเพียงไม่กี่โรง ที่ทางส่วนใหญ่ยังเป็นป่า หมูปิ้งก็ขายกันไม้ละสองบาท

ถ้าผมจำไม่ผิด นิคมอุตสาหกรรมบางปูสร้างขึ้นประมาณปี 26 - 27 และปีที่ผมมาอยู่นั่นมันก็ปี 38 สภาพตอนนั้นโรงงานถูกสร้างเกือบเต็มทุกบล็อกแล้ว หมูปิ้งก็ขายกันไม้ละสามบาท ถ้าให้ผมเดาพวกเค้าน่าจะมาอยู่กันราวปี 30 - 33

คิดว่าน่าจะเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้เค้ามีฐานะอย่างตอนที่ผมมาเจอพวกเค้า พวกนี้มีเงินนะ เข้าทำนองผ้าขี้ริ้วห่อทอง แต่ละครอบครัวจะมีรถกระบะรุ่นใหม่ป้ายแดงและโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่กันทุกคน!

แล้วหมูปิ้งสุโขทัยมันเป็นอะไรที่ดังอยู่พอสมควรในสังคมนิคมอุตสาหกรรมบางปู จนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของซอยสาม แต่ยังมีอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้กันนั่นคือร้านซ่อมมอเตอร์ไซต์ช่างมูล

ช่างมูลมีรายได้อย่างงดงาม มอเตอร์ไซต์อาณาบริเวณซอยหนึ่งถึงซอยเก้าเป็นลูกค้าแกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นร้านซ่อมมอเตอร์ไซต์เพียงแห่งเดียวในย่านนั้น!

ช่วงเวลาที่ชุมชนแห่งนี้มีสีสรรมากที่สุด ผมคิดว่าอยู่ระหว่างปี 38 - 40 เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่พ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กอย่างเราสามารถหาเงินได้ไม่น้อยกว่าวันละครึ่งหมื่น!

ตามหน้าโรงงานเวลาเปลี่ยนกะหรือเวลาเบรกพนักงานพร้อมจะจ่ายเงินซื้อทุกอย่างที่พวกเค้าต้องการ

หลังเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ นิคมอุตสาหกรรมเหมือนมีงานเทศกาลสำคัญ ถนนทุกสายมีแต่คนเดินหางานกันเป็นกลุ่มๆ สำหรับเรานั้นเป็นช่วงเวลาดีที่สุดของการค้าขายเลยละ

แต่หลังเศรษฐกิจล่มปลายปี 40 การค้าก็ซบเซาลง พ่อค้าแม่ค้าบางรายก็เลิกขายกลับไปอยู่บ้าน ถนนทุกสายในนิคมอุตสาหกรรมมีคนเดินหางานกันเยอะมาก แต่เรากลับขายของกันไม่ได้ เพราะแต่ละคนที่เดินผ่านเราไปใบหน้าของเค้าไม่มีรอยยิ้มมีเพียงแววตาแห่งความกังวล กังวลกับอนาคตที่จะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้!

สภาพแบบนั้นดำรงอยู่จนถึงสิ้นปี 40 และหลังจากนั้นก็แทบจะไม่คนเดินหางานในนิคมอุตสาหกรรมอีกเลย เพราะไม่มีตำแหน่งงานว่าง และการอุบัติขึ้นมาของบริษัทนายหน้าหาแรงงานเข้าโรงงาน

ถึงอย่างนั้นเราก็จะพอเลี้ยงตัวเองและประคองครอบครัวจนเริ่มยืนได้อีกขึ้น ครอบครัวผมคลุกคลีอยู่ในชุมชนแห่งนั้นสี่ห้าปีก่อนจะขยับขยายออกมาอยู่คอนโดเด่นชัยชุมชนที่แสนคึกคักอีกแห่งหนึ่งของเมืองอุตสาหกรรมแห่งนี้

ณ เดือนกันยายน 2554 นิคมอุตสาหกรรมบางปูมีการพัฒนาในเรื่องถนนหนทางอย่างดีพร้อมกับการเกิดขึ้นมาของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งใหม่ แต่ว่าวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับมันแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น